หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี


เนื้อเรื่องมหาเวสสันดรชาดก  กัณฑ์มัทรี

           ณ บัดนี้ อาตมภาพจักแสดงเรื่องพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ขัตติยราชกัณฑ์ที่ ๙ ว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรในกัณฑ์มัทรีสืบต่อไป เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพอสมควรแก่เวลา

ดำเนินความว่า พระมหาสัตว์เจ้ายังมหาปฐพีอันใหญ่ให้หวั่นไหวด้วยพระราชทานปิยบุตรทั้งสองแก่พราหมณ์ แล้วเกิดโกลาหลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดถึงพรหมโลก โกลาหลอันนั้นหมู่เทพเจ้าชาวป่าหิมพานต์ได้สดับเสียงพิลาปรำพันของสองพระกุมารกุมารีที่พราหมณ์นำไป ก็มีความสงสารประหนึ่งว่าหฤทัยจะแตกทำลาย 

จึงปรึกษากันว่าถ้าพระนางมัทรีเสด็จกลับมาสู่อาศรมในเวลากลางวัน เมื่อไม่ได้เห็นพระเจ้าลูกทั้งสองก็จะต้องรบกวนทูลถามซึ่งพระเวสสันดร ครั้นได้ทรงทราบว่าพระเวสสันดรได้พระราชทานให้ไปแก่พราหมณ์แล้ว พระนางเธอก็จะต้องวิ่งติดตามด้วยความสิเนหาอันแรงกล้าก็จะเสวยเวทนาอันใหญ่หลวง จำเราทั้งปวงจะคิดหาอุบายกั้นกาง อย่าให้พระนางเธอเสด็จมาได้แต่ในเวลายังวัน 

ครั้นปรึกษากันอย่างนี้แล้วจึงพร้อมกันมอบหน้าที่ให้เทพบุตรทั้งสามว่า ท่านทั้งสามจงจำแลงเพศเป็นราชสีห์องค์หนึ่ง เป็นเสือโคร่งองค์หนึ่ง เป็นเสือเหลืององค์หนึ่ง แล้วพากันไปขัดขวางกั้นกางหนทางที่พระนางเธอเสด็จมา ถึงพระนางเธอจะอ้อนวอนสักเพียงไรอย่าอนุญาตให้มาได้ จนกว่าพระอาทิตย์จะอัสดงคต จึงค่อยพากันละลดเลิกถอยหนีไปให้พระนางเธอเสด็จมาด้วยรัศมีจันทร์ แต่ว่าท่านทั้งสามจงพากันป้องกันอย่าให้พระนางเธอเป็นอันตรายด้วยสัตว์ร้ายต่าง ๆ ได้เป็นอันขาด

เมื่อเทพบุตรทั้งสามรับเทวราชปกาสิตของเทพเจ้าเหล่าที่ประชุมอยู่ในสถานที่นั้นแล้ว ก็กระทำตามคำสั่งสอนทุกประการ ฝ่ายพระเยาวมาลย์มาศมัทรีพระนางเธอมีพระหฤทัยไหวหวาดด้วยทรงคำนึงความฝัน แล้วทรงรีบขมีขมันแสวงหามูลผลาหาร แต่บังเอิญเสียมที่พระนางเธอถือก็หลุดจากพระหัตถ์ กระเช้าก็จะพลัดตกลงจากพระอังสา ทั้งพระเนตรเบื้องขวาก็เขม่นอยู่ริก ๆ ต้นไม้ที่พระนางเคยปลิดผลก็เผอิญไม่แลเห็น ท้องฟ้าอากาศก็เป็นประหนึ่งว่ามืดมิดไปทั่วทุกทิศ พระนางเธอก็ทรงหลากจิตว่าเหตุไรหนอจึงเป็นอย่างนี้ ชะรอยจะมีเหตุอันใดอันหนึ่งแก่ตัวเราหรือไม่ก็พระเจ้าลูกทั้งสอง มิฉะนั้นก็พระสวามีเวสสันดรอย่างใดอย่างหนึ่ง
 ประวัติที่มาของเรื่อง
   มหาเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องสูงส่ง แสดงให้เห็นถึงการเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนของพระเวสสันดร เพื่อเป็นทางนำไปสู่พระโพธิญาณ เมื่อได้บรรลุพระโพธิญาณแล้วก็มิได้รับประโยชน์เฉพาะตน แต่ได้นำมาสั่งสอนเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกด้วย

        มหาเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องที่คนไทยรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแต่ไม่มีหลักฐานเหลือมา หนังสือวสสันดรชาดกเพิ่งมามีลายลักษณ์อักษรแน่นอนเมื่องครั้งกรุงศรีอยุธยา

         สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าโปรกกระหม่อมให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งขึ้นเมื่อปีขาล จุลศักราช 44 คือพ.ศ. 2025 เรียกชื่อว่า "มหาชาติ" เป็นคำคละกันมีทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ร่าย มีวัตถุประสงค์แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการสวดในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา

        ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดให้รุจนามหาเวสสันดรชาดกขึ้นอีก เมื่อจุลศักราช 964 คือพ.ศ. 2145 เรียกชื่อว่า "กาพย์มหาชาติ" เป็นคำประพันธ์ชนิดร่ายยาว วัตถุประสงค์แต่งขึ้นเพื่อใช้สำหรับเทศน์

         หนังสือกาพย์มหาชาติให้จบในวันเดียวไม่ได้ จึงมีผู้แต่งกัณฑ์ต่างๆขึ้นใหม่ เพื่อย่นย่อให้สั้นเข้าและเทศน์จบภายในวันเดียวปรากฎว่ามีผู้แต่งมากมายหลายสำนวน คำประพันธ์ที่ใช้ก็ใช้ร่ายยาวเป็นพื้นแต่เรียกชื่อกันใหม่ว่า "มหาชาติกลอนเทศน์"

         มหาชาติกลอนเทศน์นี่เองที่รวมกันเข้าเป็น "ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก" คือท่านนักปราชญ์ เลือกเฟ้นเอากลอนเทศน์ที่สำนวนดีมารวมกันเข้า งานนี้เริ่มมาตั้งแต่พ.ศ. 2449 และสำเร็จเรียบง่ายบริบูรณ์เมื่อพ.ศ. 2452 ในรัชกาลที่ 5 และใช้เป็นแบบเรียนสืบเนื่องกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน

มหาเวสสันดรชาดก มีทั้งหมด 13 กัณฑ์ ดังนี้
1.กัณฑ์ทศพร
2.กัณฑ์หิมพานต์
3.กัณฑ์ทานกัณฑ์
4.กัณฑ์วนปเวสน์
5.กัณฑ์ชูชก
6.กัณฑ์จุลพน
7.กัณฑ์มหาพน
8.กัณฑ์กุมาร
9.กัณฑ์มัทรี
10.กัณฑ์สักกบรรณ
11.กัณฑ์มหาราช
12.กัณฑ์ฉกษัตริย์
13.กัณฑ์นครกัณฑ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น